กบข. เชื่อมั่นบริษัทที่ให้ความสำคัญด้าน ESG สามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ดี

กบข. เชื่อมั่นบริษัทที่ให้ความสำคัญด้าน ESG สามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ดี

กบข. ร่วมเสวนาออนไลน์ในงาน “Thailand Focus 2021” ภายใต้หัวข้อ “Accelerating Sustainable Investing in Thai Capital Market” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การบริหารกองทุนในฐานะนักลงทุนสถาบันที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Investing) พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนการลงทุนอย่างยั่งยืนในตลาดทุนไทย  

ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เผยมุมมองของนักลงทุนต่อการนำปัจจัยด้าน ESG ประกอบการพิจารณาลงทุนว่า นักลงทุนทั่วไป มักจะมองแค่ความสำคัญของผลตอบแทนและความเสี่ยงการลงทุน เช่น หากบริษัทที่ลงทุนมีผลประกอบการที่ดี ย่อมนำไปสู่การสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน แต่หากบริษัทมีการกระทำที่สร้างความเสียหายและเกิดผลกระทบด้าน ESG ย่อมสร้างความเสี่ยงให้กับบริษัท ทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ลดลง และส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกลงทุนในบริษัทนั้น แต่สำหรับนักลงทุนสถาบัน ในฐานะเจ้าของสินทรัพย์ที่ลงทุนทั่วโลก (Universal Owner) จึงตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อผลกระทบด้าน ESG ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ลงทุน มีการนำปัจจัยด้าน ESG มาประกอบในกระบวนการพิจารณาลงทุน ซึ่งกบข. ในฐานะนักลงทุนสถาบันได้มีเป้าหมายสำคัญ นั่นคือ การลงทุนที่สร้างผลตอบแทนและส่งผลกระทบเชิงบวกต่อโลกและสังคม (Impact Investing)  

สำหรับข้อมูลเชิงลึกที่ใช้ประกอบการตัดสินในลงทุนอย่างยั่งยืนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีกลยุทธ์หรือแบบแผนมาตรฐานสำเร็จรูป (No One Size Fits All) กบข. จึงได้มีการวางกระบวนการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาลงทุนได้อย่างถูกต้องแม่นยำนอกจากนี้ กบข. ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการลงทุนภายใต้กรอบ ESG โดยบูรณาการแนวทางมาตรฐานขององค์กรชั้นนำระดับสากล ได้แก่ OECD และ PRI เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ประเมินมาตรฐานด้าน ESG โดยเชื่อว่า บริษัทที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน ESG จะสามารถสร้างผลตอบแทนระยะยาวได้ดีกว่า 

นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG อย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง ในขณะเดียวกัน นักลงทุนจะต้องตระหนักว่า ข้อมูลที่เปิดเผยไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะแต่ละแห่งมีเกณฑ์ประเมินคะแนนด้าน ESG ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การรวบรวมข้อมูลเชิงลึกและการประเมินด้าน ESG จึงเป็นเรื่องท้าทายและจะต้องพัฒนาต่อไป เพื่อให้สอดคล้องตามแต่ละบริบทของสินทรัพย์และประเภทธุรกิจได้อย่างเหมาะสม ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของนโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

“ตลาดทุนไทยสามารถเกิดความยั่งยืนและมีแนวโน้มดีขึ้นในอนาคตได้ หากทุกภาคส่วนร่วมมือ และก้าวไปในทิศทางเดียวกัน” ดร. ศรีกัญญากล่าวทิ้งท้าย 

ข่าวเกี่ยวข้อง